คริสตจักรพันธกิจเชียงใหม่ Acts Church of Chiang Mai  
 
206 หมู่1 ต.ป่าแดด อ.เมือง  จ.เชียงใหม่ 50100 Tel. 053 275052, 089 6351009
 
 
CHURCH | SERVICES | PEOPLE GROUP | MINISTIES | GETTING INVOLVED | NEWS | ACTIVITIES | TESTIMONIES | RESOURCES
คำเทศนา | นมัสการ | สูจิบัตร | Acts News | บทความ | ดนตรี | ภาพยนต์ | หนังสือ | บทเรียนผู้เชื่อใหม่ | กิจกรรม | คำพยาน | คู่มือเฝ้าเดี่ยว QT  



ศาสนศาสตร์คืออะไร ทำไมต้องศาสนศาสตร์

(ออกัสตินแห่งฮิปโป นักศาสนศาสตร์ที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์คริสตจักร)

ถาม  เรียนถามครับว่า ทำไมคริสตชนต้องรู้ศาสนศาสตร์  ต้องศึกษาศาสนศาสตร์  รู้พระคัมภีร์เฉยๆ ไม่ได้หรือ?  

ตอบ   คำถามนี้บางครั้งก็เป็นการถามด้วยความสนใจใคร่รู้อย่างบริสุทธิ์ใจจริงๆ แต่บางครั้งก็มากับการเสียดสีหรือบางทีก็ถึงดูหมิ่นเหยียดหยามการศึกษาศาสนศาสตร์ว่า ไร้ค่า ไร้ประโยชน์ โดยใช้เหตุผลว่า ให้เราใช้เพียงพระคัมภีร์ ประสบการณ์กับพระเจ้า และการรักพระเจ้าสุดจิตสุดใจ เท่านั้นก็พอแล้ว

 

ขอตอบอย่างนี้ว่า ศาสนศาสตร์ ซึ่งคาทอลิกนิยมเรียกว่า เทวศาสตร์ มากกว่า มาจากคำภาษาลาติน theologia ที่ท่าน ออกัสติน แห่งฮิปโป บาทหลวงนักปราชญ์ยุคกลางเป็นผู้บัญญัติขึ้น และกลายมาเป็นคำภาษาอังกฤษว่า theology คำนี้เป็นการสนธิคำระหว่า theos ซึ่งแปลว่าพระเจ้า (หรือเทพเจ้าก็ได้) กับ logia ซึ่งแปลว่าความรู้ แปลตรงตัวก็คือ ความรู้เกี่ยวกับพระเจ้า แต่ความหมายที่แท้จริงต้องนิยามว่า ศาสนศาสตร์คือการศึกษาเกี่ยวกับศาสนา (คริสต์) อย่างมีระบบและมีเหตุผล หรือเป็นการศึกษาเพื่อกำหนดหลักความเชื่อของคริสตชนอย่างมีระบบและมีเหตุผล

 

การจะศึกษาคริสตศาสนาอย่างมีระบบและมีเหตุผลที่ว่านี้มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายดายอย่างที่เราๆมักคิดกัน  สาเหตุที่สำคัญก็คือ พระคัมภีร์ไม่ได้ถูกเขียนขึ้นในลักษณะของตำราที่มีระบบและมีเหตุผลในแบบที่คนยุคกรีกเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันจะรับได้ง่า่ยๆ    ฉะนั้นการจะการจะศึกษาคริสตศาสนาอย่างมีระบบและมีเหตุผลที่ว่านี้จึงจำเป็นต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญหลายด้านจนยากอยู่ไม่น้อย

 

บางคนอาจคิดว่า ทำไมมันถึงยากหรือ?  คริสตชนสมัยแรกไม่เห็นจะเป็นคนมีความรู้อะไร ไม่ได้ศึกษาอะไรมาก พวกเขาก็ยังเป็นคริสตชนที่ดีและดูเหมือนจะเกิดผลมาก แล้วทำไมคริสตชนยุคนี้ต้องรู้อะไรมากมายด้วยล่ะ?

ก็จริงในแง่หนึ่ง แต่ก็อาจตอบได้ว่า ก็เพราะคนในยุคแรก ความรู้พื้นฐานแบบง่ายๆที่มีนั้นก็ยังคงเป็นเรื่องสดใหม่ และดูจะเพียงพอต่อสถานการณ์ในเวลานั้น แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป ปัญหาก็เริ่มเกิด สถานการณ์ก็ซับซ้อนขึ้น ความคิดคนก็เริ่มเห็นประเด็นที่น่าสงสัยจึงเริ่มตั้งคำถามต่างๆ ความรู้พื้นฐานที่เคยดูเหมือนพอก็เริ่มจะไม่พอ เริ่มตอบคำถามใหม่ๆไม่ได้ จึงต้องเริ่มมีการคิดและศึกษาอย่างมีระบบมากขึ้นเพื่อตอบปัญหาหรือแก้ปัญหาให้ได้ดีขึ้น

 

 

ตัวอย่างปัญหาศาสนศาสตร์

 

มาลองดูตัวอย่างกันสักเรื่องแล้วกัน ขอยกตัวอย่างของเรื่อง “ตรีเอกานุภาพ” (Trinity) ซึ่งหมายถึงศาสนศาสตร์ที่ว่า พระเจ้ามีองค์เดียวและทรงประกอบด้วยพระเจ้าสามพระภาค คริสตชนทุกคนล้วนแต่ต้องยอมรับศาสนศาสตร์หรือหลักข้อเชื่อในเรื่องนี้ นี่เป็นหลักข้อเชื่อสำคัญมากข้อหนึ่งที่แยกคริสตชนออกจากความเป็นศาสนายิวและอิสลาม แต่เราก็ต้องยอมรับว่า พระคัมภีร์ไม่มีบันทึกคำว่าตรีเอกานุภาพไว้แม้แต่ครั้งเดียว อีกทั้งพระคัมภีร์ก็ดูเหมือนมีข้อขัดแย้งกันเองในความคิดเรื่องนี้ด้วย เพราะพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมยืนยันมาตลอดเป็นพันๆปีว่า พระเจ้ามีพระองค์เดียว ไม่มีผู้ใดอีก แต่พอมาถึงสมัยพันธสัญญาใหม่ พระเยซูก็เริ่มนำเสนอว่า พระองค์คือพระบุตรของพระเจ้า และพระองค์ก็เป็นพระเจ้า (ตามบันทึกของพระกิตติคุณยอห์น) แล้วต่อมาพระองค์ก็ตรัสว่า พระองค์จะเสด็จขึ้นสู่สวรรค์และจะส่ง “พระวิญญาณบริสุทธิ์” มาเป็นผู้ช่วย แล้วคริสตจักรสมัยแรกก็ยึดถือตามนั้น ว่าคริสตชนต้องเชื่อว่า พระเจ้ามีองค์เดียว และพระเจ้าองค์นี้บัดนี้ก็เป็นพระบิดาที่มีพระบุตรคือพระเยซู และพระเยซูก็เป็นพระเจ้าด้วย แล้วก็มีพระวิญญาณด้วย

 

ภาพแผนภูมิอธิบายศาสนศาสตร์เรื่องตรีเอกานุภาพในแบบคลาสสิค ว่ากันมาอย่างนี้ตั้งแต่โบราณ

 

หลักความเชื่อแบบนี้ตอนแรกๆก็ดูไม่เป็นปัญหาอะไร แต่ต่อมาไม่นานเท่าไหร่ก็เริ่มเจอปัญหา เพียงไม่เกิน 30 ปีแรกหลังจากที่พระเยซูเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ก็เริ่มมีคำถามว่า “เอ แล้วตกลง ถ้าพระเจ้ามีองค์เดียว แล้วพระเยซูจะถือเป็นพระเจ้าด้วยได้อย่างไร” แล้วต่อมาก็คิดสงสัยต่อว่า “หรือว่าพระเยซูจะไม่ใช่พระเจ้า เป็นแต่เพียงมนุษย์?” แล้วต่อมาก็มีความคิดสงสัยต่อว่า “หรือพระเยซูจะเป็นมนุษย์ที่พระเจ้าลงมาสวมร่างชั่วขณะหนึ่ง แล้วสุดท้ายก็เสด็จออกจากร่างมนุษย์นี้ไป?” แล้วก็มีความคิดสงสัยต่อว่า “หรือว่าพระเยซูจะเป็นพระเจ้า แต่เป็นพระเจ้าอีกองค์ เป็นองค์ที่สอง และเป็นระดับรองจากพระบิดา?”

 

คำถามเหล่านี้ก็เกิดแรงขึ้นเรื่อยๆ ผู้คนก็เชื่อตามแนวนั้นบ้างแนวนี้บ้าง แล้วก็เกิดการแบ่งพวกเถียงกันใหญ่โต ต่างก็ตั้งเป็นสำนักคิดเฉพาะเจาะจงกันขึ้นมา และต่างก็กล่าวหากันว่าคนที่เชื่อไม่เหมือนตัวเป็นพวกสอนเท็จ จนในที่สุดศาสนจักรก็เลยถึงกับต้องมีการทำสังคายนากันว่า ตกลงเรื่องนี้จะสรุปอย่างไรดี ต้องประชุมกันนานกว่าจะสรุปว่า “พระเจ้าทรงมีองค์เดียว และพระบุตรก็เป็นพระเจ้าแท้และเป็นมนุษย์แท้ในเวลาเดียวกัน” ซึ่งมีความหมายในทำนองว่า พระเยซูทรงเป็นพระเจ้าเดียวกับพระบิดา และพระองค์ทรงเป็นพระเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์ ขณะเดียวกันพระองค์ก็ทรงเป็นมนุษย์ร้อยเปอร์เซ็นต์ด้วย

 

พอถึงตรงนี้อย่าคิดว่าเรื่องจะจบ พอสรุปอย่างนี้ก็เกิดคำถามต่ออีกว่า “เป็นไปได้อย่างไรที่พระเยซูจะทรงเป็นทั้งมนุษย์แท้และพระเจ้า แท้ในเวลาเดียวกัน?” แล้วก็ยังคิดสงสัยต่อได้อีกหลายอย่าง รวมไปถึงว่า “แล้วพระวิญญาณเป็นพระเจ้าด้วยไหม?” “ถ้าเป็นพระเจ้าแล้วมีฐานะอย่างไร? เท่าพระเจ้าบิดาไหม? หรือเท่ากับพระบุตรไหม? หรือฐานะต่ำกว่าพระบุตร?”

 

เชื่อหรือไม่ว่า คริสตจักรสมัยแรกๆ ต้องถกเถียงกันประเด็นพวกนี้กันอย่างจริงจังเอาเป็นเอาตายเป็นเวลายาวนาน หลายร้อยปี จนสังคมเต็มไปด้วยความแตกแยกร้าวฉานเจ็บปวด และกลุ่มคริสตชนที่ถูกประนามว่าเป็นลัทธิเทียมเท็จกลุ่มแรกสุดก็เกิดจากประเด็นทางความเชื่อเรื่องตรีเอกานุภาพนี่เอง

 

 

จนในที่สุด บาทหลวงนักปราชญ์ทางศาสนศาสตร์นามอุโฆษว่า ออกัสติน ก็ได้เขียนหนังสื่อที่ชื่อว่า Trinity ในราวปีคศ. 419 ถือว่าเป็นการบัญญัติศัพท์คำว่า ตรีเอกานุภาพหรือตรีเอกภาพขึ้น เพื่อบอกว่า พระเจ้ามีองค์เดียว แต่ทรงมีสามพระภาค แต่แต่ละพระภาคก็ไม่ใช่บุคคลเดียวกัน คำศัพท์ “ตรีเอกานุภาพ” ก็เลยถูกใช้อย่างแพร่หลายนับแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน แต่ถึงกระนั้นในแง่ของแก่นสารก็ยังมีความคิดเห็นที่พัฒนาต่อเนื่องมาเรื่อยๆ แตกต่างในรายละเอียดกันอีกหลายอย่าง เช่น ตกลงเป็นพระเจ้าองค์เดียวแต่มีสามพระภาค หรือเป็นพระเจ้าองค์เดียวแต่สำแดงเป็นสามพระองค์(สามบุคคล) ซึ่งถ้าเป็นสามพระภาคก็แปลว่าแต่ละพระภาคเป็นส่วนหนึ่งในสามของพระเจ้าหรือเป็นพระเจ้าส่วนหนึ่งในสาม แต่ถ้าเป็นสามบุคคลก็แปลว่าแต่ละบุคคลต่างเป็นพระเจ้าที่สมบูรณ์พระองค์หนึ่งและทั้งสามพระองค์ก็รวมเป็นพระเจ้าที่สมบูรณ์ที่สุดพระองค์เดียว  แล้วก็ยังมีอีกแนวคิดว่า หรือแท้จริงเป็นพระเจ้าองค์เดียวที่ทรงกระทำสามบทบาทเหมือนสวมหมวกสามใบ ช่วงนึงแสดงบทเป็นบุคคลนึง อีกช่วงหนึ่งก็แสดงบทเป็นอีกบุคคลนึง อะไรทำนองนี้   งงดีไหม?

(ออกัสติน แห่ง ฮิปโป)

 

(แผนภูมิอธิบายศาสนศาสตร์เรื่องตรีเอกานุภาพตั้งแต่ครั้งโบราณ)

 

สองพันปีผ่านมาก็ยังไม่จบ แม้แต่เร็วๆ นี้ในสหรัฐก็ยังมีการถกเถียงเรื่องตรีเอกานุภาพกันอีก ด้วยเหตุของหนังสือนวนิยายเชิงคริสตชนที่ติดอันดับขายดีที่ชื่อ The Shack เถียงกันเป็นเรื่องเป็นราว ทั้งในหนังสือพิมพ์ ในอินเทอเน็ต ในโซเชียลมีเดีย  ถกเถียงกันสนั่นเมืองเลยทีเดียว

และทั้งหมดนี้ก็ยังไม่นับว่า ผู้นับถือศาสนายิวและศาสนาอิสลามก็ยังมาร่วมวงโต้แย้งถกเถียงอีกด้วย ว่าพระเจ้ามีองค์เดียวเท่านั้น  จะเป็นสามพระภาคหรือสามบุคคลไปได้อย่างไร

 

ที่ต้องมีการศึกษาศาสนศาสตร์และนักศาสนศาสตร์ก็เพราะอย่างนี้! ก็เพราะว่า  หลักความเชื่อของคริสตชนที่ว่ามาจากพระคัมภีร์นั้นถูกคาดหวังด้วยว่า “ต้องเป็นระบบและมีเหตุผล”    หลักความเชื่อของคริสตชนที่เราคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องง่ายๆ ตามพระคัมภีร์ อ่านว่าอย่างไรก็มีความหมายตรงตามตัวอักษรว่าอย่างนั้น บ่อยครั้งมันจึงไม่ง่ายอย่างที่เราคิดหรืออย่างที่เราอยากให้เป็น  ไม่อย่างนั้่นก็คงไม่มีปัญหาถกเถียงกันมานับเป็นพันๆ ปีอย่างนี้  นี่แค่เรื่องเดียวนะ แต่ยังมีเรื่องทำนองนี้อีกเป็นร้อยเป็นพัน

 

 

ศาสนศาสตร์ ทำอย่างไร?

 

การศึกษาศาสนศาสตร์จะช่วยให้เราหาแก่นแท้ของหลักความเชื่อที่ถูกต้องที่แท้จริงที่คริสตชนควรยึดถือ หรือพูดอีกอย่างคือ อย่างเพิ่งด่วนคิดว่า อ่านพระคัมภีร์ตอนใดตอนหนึ่งปุ๊บ เราก็จะเจอหลักข้อเชื่อที่ถูกต้องทันที ( มันน่าจะเป็นอย่างนั้นใช่ไหม เสียดายที่บ่อยครั้งมันไม่ง่ายอย่างนั้น ดังตัวอย่างที่เล่ามาแล้ว ) อ่านพระคัมภีร์นั้นก็ใช่ แต่เราต้องมีกระบวนการทางศาสนศาสตร์ก่อน จึงจะได้หลักความเชื่อที่ถูกต้อง

กระบวนการทางศาสนศาสตร์โดยพื้นฐานเป็นอย่างนี้ คือ ศาสนศาสตร์ถือว่า หลักความเชื่อของคริสตชนต้องยึดถือจากพระคัมภีร์ ถือว่าพระคัมภีร์เป็นสิทธิอำนาจสูงสุดในการกำหนดหลักความเชื่อของพระคัมภีร์ แต่เรื่องนี้ก็มีถูกแย้งจากบางแนวคิดว่า มีอย่างอื่นอีกที่ต้องเอามายึดถืออย่างเท่าเทียมกับพระคัมภีร์ด้วย

 

อย่างแรกก็คือ บางฝ่ายถือว่า ต้องยึดถือธรรมเนียมของคริสตจักร คณะ หรือศาสนจักรมาเป็นหลักสูงสุดเทียบเท่าพระคัมภีร์ด้วย หลักการนี้เป็นที่ยึดถือโดยทางคาทอลิก แต่โปรเตสแต๊นท์ไม่ถือ ที่คาทอลิกถือเช่นนี้ก็เพราะถือว่า ศาสนจักร(หรือคริสตจักร) เกิดมาก่อนพระคัมภีร์ อีกประการหนึ่งคือ ถือว่าพระเจ้าทรงตั้งสถาบันพระสันตะปาปาเพื่อสืบทอดคำสอนแท้จากพระเยซู จึงเป็นผู้มีสิทธิชี้ขาดในพระคัมภีร์ว่าพระคัมภีร์มีความหมายว่าอย่างไร ไปจนถึงมีสิทธิชี้ขาดในเรื่องที่พระคัมภีร์ไม่ได้สอนด้วย แต่เรื่องนี้โปรเตสแต๊นท์ก็ไม่ยอมรับเพราะถือว่า พระคัมภีร์เท่านั้นที่มีสิทธิอำนาจสูงสุด และคริสตชนแต่ละคนมีสิทธิตีความหมายพระคัมภีร์ด้วยตัวเอง ไม่มีใครมีสิทธิมาชี้ขาดแทน

 

อย่างที่สองคือ บางฝ่ายถือว่าต้องเอาประสบการณ์ส่วนตัวของใครคนใดคนหนึ่งมาเป็นหลักการสูงสุดด้วย แต่หลักการนี้ไม่เป็นที่ยอมรับ เพราะถือว่า ประสบการณ์ของคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน ไม่อาจถือเอาเป็นมาตรฐานได้ จึงไม่อาจยอมรับให้เอาประสบการณ์ส่วนตัวของบุคคลมาเป็นหลักความเชื่อได้ ไม่ว่าบุคคลนั้นจะดูพิเศษหรือดูขลังเพียงใดก็ตาม

 

อย่างที่สามคือ บางฝ่ายถือว่า ต้องเอาเหตุผลหรือหลักวิทยาศาสตร์มายึดถือเทียบเท่ากับพระคัมภีร์ หลักการนี้ก็ไม่เป็นที่ยอมรับ เพราะถือว่า หากพระคัมภีร์ยืนยันเรื่องใดชัดเจนก็จำเป็นต้องยึดถือตามนั้นด้วยความเชื่อแม้ว่าจะดูขัดแย้งกับเหตุผลหรือหลักวิทยาศาสตร์อย่างไรก็ตาม

 

ทั้ง ธรรมเนียมคริสตจักร ประสบการณ์ส่วนตัว หรือเหตุผล สามสิ่งนี้จะถือว่าเป็นเพียงสิ่งเสริมหรือสนับสนุนพระคัมภีร์เท่านั้น แต่ไม่อาจถือว่ามีสิทธิอำนาจเท่าเทียมกับพระคัมภีร์ในการกำหนดหลักข้อเชื่อคริสตชน

 

 

แต่การยึดถือพระคัมภีร์ในแบบศาสนศาสตร์ก็ไม่ง่ายเลย

 

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะบอกว่า ศาสนศาสตร์จะยึดถือพระคัมภีร์เป็นสิทธิอำนาจสูงสุดในการกำหนดหลักความเชื่อ แต่ถึงกระนั้น การยึดพระคัมภีร์ก็มีปัญหาหลายอย่าง ที่ทำให้ต้องคิดค้นศึกษาเพิ่มเติมมากมาย ซึ่งปัญหาหลักๆ ก็คือ ปัญหาการถือสารบบที่ต่างกัน ปัญหาการตีความเชิงภาษาและการประพันธ์ของพระคัมภีร์ภาษาเดิม   ปัญหาการตีความเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ปัญหาพัฒนาการทางความคิดหรือคำสอนระหว่างยุคสมัยของพระคัมภีร์ ปัญหาความกำกวมของภาษา ปัญหาการไม่ได้นำเสนออย่างเป็นระบบ  ปัญหาการที่ดูเหมือนมีขัดแย้งกันเอง  ปัญหาประสบการณ์ส่วนบุคคล  ประสบการณ์เฉพาะบุคคล  ปัญหาที่พระคัมภีร์พูดไม่ชัด ปัญหาเรื่องที่พระคัมภีร์ไม่พูด

 

นี่พูดถึงเฉพาะหัวข้อคร่าวๆ เท่านั้น รายละเอียดของแต่ละหัวข้อมีอีกมาก และหัวข้อเหล่านี้ก็เป็นเพียงประเด็นพื้นฐานในการศึกษาพระคัมภีร์ในแบบศาสนศาสตร์ แต่ถ้าเป็นศาสนศาสตร์ในขั้นที่ลึกขึ้นไปอีกก็ต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไปในแง่อื่นอีก เช่น ปัญหาเรื่องความมีเหตุผลในความเป็นจริงหรือหลักวิทยาศาสตร์ ปัญหาความคล้ายหรือต่างกับศาสนาอื่นความเชื่ออื่น ปัญหาเรื่องการหาข้อพิสูจน์ ไปจนถึงเรื่องการวิจารณ์พระคัมภีร์  (หรือสุดๆ ก็ไปถึงขั้นที่โต้แย้งกับพระคัมภีร์  เช่นเดียวกับการที่บรรดาผู้ที่ต่อต้านพระคัมภีร์ทำ  และก็ต้องลองพยายามกล่าวแก้ข้อโต้แย้งให้ได้ด้วย  หรือพูดง่ายๆ ว่าคิดทั้งแบบฝ่ายต่อต้านและฝ่ายสนับสนุน)     ซึ่งการทำศาสนศาสตร์ส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยมาถึงจุดนี้กันสักเท่าไหร่ ส่วนใหญ่อยู่ในขั้นต้นกันมากกว่า

 

อย่าดูแคลนศาสนศาสตร์ทีเดียว  ที่จริงแล้ว พระเยซูคือนักศาสนศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด  ทรงตีความพระคัมภีร์เดิมในทัศนะใหม่ให้คนยิวเข้าใจน้ำพระทัยของพระเจ้าที่แท้จริงในพระับัญญัติ  ประโยคทางศาสนศาสตร์ของพระองค์คือ “ท่านได้ยินมาว่า… แต่เราบอกความจริงท่านว่า…”  นี่ไง พระองค์กำลังนำพระบัญญัติเดิมมาตีความใหม่ให้คนยิวเข้าใจอย่างถูกต้อง

 

แต่ถ้าไม่นับพระองค์แล้ว ท่านเปาโลจะถือว่าเป็นนักศาสนศาสตร์คนแรก และยิ่งใหญ่ที่สุด  เนื่องจากท่านเป็นผู้ที่ประมวลและตีความคำสอนและชีวิตของพระเยซูคริสต์จนสร้างเป็นหลักศาสนศาสตร์ระบบที่ชัดเจนเป็นคนแรก   ท่านเปาโลนี่แหละที่ทำให้คริสตชนทั้งหลายต้องยึดถือหลักความเชื่อที่ว่า “รอดโดยพระคุณเพราะความเชื่อ(ในพระเยซู)  ไม่ใช่โดยการประพฤติ”  ซึ่งว่าไปแล้ว พระเยซูคริสต์เองก็ไม่เคยตรัสวลีที่เป็นแก่นแห่งหลักข้อเชื่อแบบนี้เลยด้วยซ้ำ    ( เรื่องนี้ถึงขึ้นที่บรรดานักศาสนศาสตร์ยิวถึงกับถือกันว่า  ผู้ที่สร้างคริสตศาสนาขึ้นมาที่จริงแล้วไม่ใช่พระเยซูหรอก  แต่ตัวจริงก็คือเปาโลนี่แหละ)   และสาเหตุที่สำคัญประการหนึ่งที่คริสตชนเข้มแข็งในความเชื่อและสามารถฟันฝ่าการข่มเหงของจักรวรรดิโรมันและอิทธิพลปรัชญากรีกมาได้ในช่วงหลายร้อยปีแรก ก็ต้องบอกว่าส่วนสำคัญอันหนึ่งก็มาจากความเป็นนักศาสนศาสตร์ของท่านเปาโลนี่แหละที่ทำให้คริสตศาสนามีระบบและมีเหตุผล เข้าใจง่ายและน่าเชื่อถือศรัทธา    และหลังจากท่านเปาโลแล้ว ก็ได้มีนักศาสนศาสตร์อีกหลายคนที่มีคุณูปการแก่คริสตศาสนามาโดยตลอดยุคสมัย

 

มีประโยคที่ในทางวิชาการพูดกันว่า “คริสตชนทุกคนเป็นนักศาสนศาสตร์” ผู้เขียนว่าจริงบางส่วนแต่ก็ไม่จริงบางส่วน ที่ว่าจริงก็คือ การที่ใครอ่านพระคัมภีร์แล้วสร้างเป็นหลักความเชื่อขึ้นมาได้ ก็ถือว่านี่เป็นการสร้างกระบวนการทางศาสนศาสตร์แล้ว แต่ที่ว่าไม่จริงก็คือส่วนใหญ่เป็นการทำที่ไม่ได้พิจารณาอย่างถ่องแท้ ซึ่งก็นำไปสู่หลักความเชื่อที่ผิดๆ ได้เช่นกัน

 

อาจจะถูกกว่าถ้าบอกว่า “คริสตชนทุกคนต้องพยายามเป็นนักศาสนศาสตร์ที่ดี” 

 

สวัสดี

 

 

ดร.ศิลป์ชัย  เชาว์เจริญรัตน์ 

 

 

ดูบทความอื่นๆของผู้เขียนที่

www.facebook.com/dr.sinchai/notes












= RESOURCES =
Sermon
คำเทศนา
Sermon Series
ชุดคำเทศนา
Worship
นมัสการวันอาทิตย์
Acts News
ข่าวคริสตจักร
Article
บทความน่าสนใจ
Music
เพลงนมัสการ
Movies
หนังน่าสนใจ
Book
หนังสือแนะนำ
Sources
บทเรียนสำหรับสมาชิก
Worship Song
เนื้อเพลงนมัสการ
  ศาสนศาสตร์คืออะไร ทำไมต้องศาสนศาสตร์
ทำไมคริสตชนต้องรู้ศาสนศาสตร์ ต้องศึกษาศาสนศาสตร์ รู้พระคัมภีร์เฉยๆ ไม่ได้หรือ?
  จงออกไปประกาศข่าวประเสริฐ
เราจะนอนหลับได้อย่างไร เมื่อทุกๆวันมีผู้คนกำลังตายไปโดยไม่ได้รับความรอด
  ความรักสี่แบบและความรักคริสเตียน
ในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ ซึ่งบันทึกด้วยภาษากรีก ปรากฏคำเกี่ยวกับความรักอยู่ถึง 4 คำด้วยกัน ใช้บรรยาย ความรักที่แยกย่อยได้ถึง 4 ประเภท
  น้ำพระทัยของพระเจ้า
พระคัมภีร์ไม่ได้สอนเรื่องน้ำพระทัยของพระเจ้าแก่เรา ให้เป็นแค่เพียงแค่ความรู้เท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราในฐานะของผู้เชื่อ
  การตีสอนของพระเจ้า
บุตรชายของเราเอ๋ย อย่าละเลยต่อการตีสอนขององค์พระผู้เป็นเจ้า และอย่าท้อถอยในเมื่อพระองค์ทรงตีสอนนั้น เพราะองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงตีสอนผู้ที่พระองค์ทรงรัก และเมื่อพระองค์ทรงรับผู้ใดเป็นบุตร พระองค์ก็ทรงตีสอนผู้นั้น
  การรับประทานอาหารที่ถวายรูปเคารพ
การกระทำของเราควรตั้งอยู่บนความรักที่มีต่อพระเจ้าและคนอื่นเป็นอันดับแรก หากความรักเป็น สิ่งแรกที่เราใช้ในการตัดสินใจในสิ่งต่างๆ เราจะปฏิเสธที่จะทำหรือหนุนใจให้คนอื่นทำในสิ่งที่ทำให้ผู้เชื่อแม้แต่เพียง หนึ่งคนสะดุดซึ่งเป็นเหตุนำเขาไปสู่ความพินาศ
 
MORE
ดูทั้งหมด


 
CONTACT
Vision | Mission Statement | Core Values | Pastor | Milestones
Sunday Service | Children Church | Bible Classes | Cell Groups | Pray Meeting
Adult | Young Pro. | Youth | Children | Toa
Visit Service | Visit Cell Groups | Membership | Church Office | Sunday Activities
Outreach | Church Camp | Membership | City Wide | Children | Worship Team | Art Class
Sermon | Worship | Bulletin | Acts News | Article | Music | Movies | Book | Sources